8 ทรงมีดต่างๆ มีดแบบไหนที่ควรมีติดครัว?

บทความนี้จะพาเพื่อนๆไปรู้จักกับทรงมีดต่างๆที่เพื่อนๆอาจจะเคยเห็นและไม่เคยเห็น

ทั้งในครัวไทยและครัวฝรั่ง พร้อมแนะนำวิธีใช้มีดเหล่านั้นว่ามีดแต่ละแบบเหมาะกับการใช้งานยังไงบ้าง  

รวมไปถึงการแนะนำว่ามีดประเภทไหนบ้างที่ควรจะมีติดครัว ไม่รอช้าตามไปอ่านกันได้เลยค่า 

โครงสร้างของมีดโดยทั่วไป

ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับมีดแต่ละแบบมาดูลักษณะทั่วไปของมีดก่อนว่ามีลักษณะอย่างไรและทำหน้าที่อะไร 

ไล่รายละเอียดตั้งแต่ส่วนหัวหรือส่วนใบมีดไปจนถึงส่วนของด้ามจับ เพื่อที่เพื่อนๆจะได้เห็นภาพและเข้าใจการทำงานของทรงมีดต่างๆได้ชัดเจนขึ้น 

ใบมีด (Bade)

ใบมีด ซึ่งเป็นส่วนหลักที่ใช้ในการหั่น สับ แล่อาหารที่ต้องการทำให้มีขนาดเล็กลง มักจะทำมากวัสดุตระกูลเหล็กหรือบางอันมีเซรามิคเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ใบมีดมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้ 

  • Point

คือ ส่วนปลายสุดของมีด มีลักษณะแหลมคม สามารถนำมาใช้ในการเจาะอาหารบางชนิด

  • Tip

คือ ส่วนโค้งของปลายมีด อยู่ถัดส่วนของปลายแหลมมีดและเป็นส่วนหนึ่งของคมมีด ส่วนนี้จะถูกใช้ในการหั่นอาหารประเภทที่ต้องการหั่นวัตถุดิบที่มีเนื้อบางนุ่ม หรือใช้ในการหั่นวัตถุดิบเป็นชิ้นบางๆ เช่นเห็ดเชิ้นบางมักจะถูกใช้ส่วนนี้ในการหั่นเป็นหลัก 

  • Edge

คือ คมมีด เป็นส่วนท้องของมีดที่เรานำมาหั่น สับ หรือแล่โดยซะส่วนใหญ่ และเป็นส่วนที่คมมากเมื่อถูกใช้งานไปสักระยะส่วนนี้อาจไม่คมเหมือนแรกๆหรือมีการบิดเบี้ยวได้ (ขึ้นอยู่กับคุณภาพ) ดังนั้นส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่ต้องการลับคมมีดอยู่บ่อยๆ 

  • Spine

คือ สันมีด อยู่ด้านตรงข้ามกับท้องมีด เป็นส่วนที่หนาที่สุดของใบมีด ส่วนนี้จะช่วยให้สมรรถภาพการทำงานในภาพรวมของใบมีดดีขึ้น มีความแข็งแรงและสเถียรภาพมากขึ้น 

  • Heel

คือ ส่วนท้ายของใบมีด เป็นส่วนหนึ่งของคมมีดและมีความกว้างมากที่สุด มักจะใช้หั่นอาหารที่มีความแข็งอย่างเช่นกระดูก

  • Bolster

คือ คอมีด เป็นส่วนหนึ่งของใบมีด อยู่ระหว่างด้ามจับและใบมีดจะมีความหนาและไม่คม ช่วยให้ตัวมีดมีความแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น 

ข้อควรพิจรณา: จุดสำคัญของคอมีดคือในมีดบางยี่ห้อ/รุ่นมี Finger guard หรือส่วนที่ช่วยปกป้องนิ้วมือไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างการใช้งาน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้งานลักษณะจะเป็นเนื้อนูนๆขึ้นมาซึ่งบริเวณนั้นจะไม่คม ดังนั้นถ้าหากเพื่อนๆกำลังมองหามีดอยู่อย่าลืมเช็คก่อนนะคะ 

ด้ามจับ (Handle)

ส่วนของด้ามจับ เป็นส่วนที่เราจะต้องจับขณะทำงาน ทำจากวัสดุที่หลากหลายตามท้องตลาด ประกอบด้วย

  • Tang

คือ กั่นมีด คือส่วนหนึ่งของใบมีดที่ไม่คมใช้เป็นส่วนจับ มีดส่วนมากจะใช้วัสดุหลายประเภทห่อหุ้มอีก 1 ชั้น บริเวณนี้จะช่วยให้มีดมีความสมดุล แข็งแรงและความสเถียรภาพขณะใช้งาน 

โดยกั่นมีดมีอยู่ 2 แบบหลักๆ คือแบบที่มีดยาวไปจนถึงก้นมีด (Full Tang) และมีดที่ยาวมาถึงกลางด้ามจับ (Partial Tang)

Full Tang Vs Partial Tang แบบไหนดีกว่ากัน?

หากคุณเป็นคนที่ชอบการใช้ในการทำอาหารหนัก บ่อย และต้องใช้ความพิถีพิถัน เลือก Full Tang เพราะถึงแม้ว่าจะมีน้ำหนักมากกว่าแต่ให้ความแข็งแรงและคงทนมากกว่าให้ความสมดุลในการลงน้ำหนักและส่งแรงได้ดีกว่าไม่บิดหรือพังง่าย

หากคุณไม่ได้ซีเรียสในการใช้ทำอาหาร แต่ต้องการมีไว้ติดครัว Partial Tang เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ไม่ได้แย่เลย แต่มีดประเภทนี้มักจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเพียงเท่านั้น 
  • Butt

คือ ก้นมีด เป็นบริเวณปลายสุดของมีด

ประเภทของมีดที่สามารถพบเห็นได้ตามครัว

มีดที่เราเคยเห็นนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกันไป บางคนอาจคิดว่าคุณลักษณะการใช้งานก็เหมือนๆกันคือการหั่น สับ แล่

ให้วัตถุดิบมีขนาดเล็กลงตามต้องการแต่ใครจะรู้ว่าทรงมีดต่างๆเหมาะกับการหั่นอาหารที่แตกต่างกัน 

ข้างล่างนี้จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับมีดแต่ละประเภทให้เพื่อนๆได้เข้าใจมากขึ้น มีอะไรบ้างตามไปอ่านกันเลย!

1.มีดเชฟ (Chef Knife) – “มีดที่ควรมีติดบ้าน”

มีดเชฟ

มีดเชฟ เมื่อได้ยินชื่ออาจจะคิดว่าเป็นมีดสำหรับพ่อครัวทำอาหารระดับเทพๆเท่านั้น แต่จริงๆแล้วเป็นมีดที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยตามร้านอาหารไปยันครัวบ้าน 

เพราะเป็นมีดอเนกประสงค์ที่ทำได้แทบจะทุกอย่างในครัวเลยทีเดียว หากเพื่อนๆกำลังมองหามีดสักเล่มไว้ที่บ้านจะต้องไม่พลาดมีดเชฟเลยนะ

ลักษณะของมีด: เป็นมีดด้ามยาว คมมีดมีขนาดกว้างสุดตรงส่วนสุดท้ายของใบมีด (ใกล้กับด้ามจับ) ไล่ขนาดแคบลงไปเรื่อยๆไปจนถึงส่วนของปลายแหลมมีด ใบมีดขนาดที่ควรเลือกอยู่ระหว่างที่ 6-12 นิ้ว โดยขนาดที่ดีที่สุดสำหรับใช้งานในครัวที่บ้านอยู่ที่ 8 นิ้ว

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: ใช้ได้กับหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นการหั่น สับ แล่ เลาะ เนื้อสัตว์  กระดูกและผักต่างๆ

ข้อควรพิจรณา: ไม่เหมาะกับการใช้งานกับวัตถุดิบที่มีขนาดเล็กเนื่องจากตัวมีดเชฟจะมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ไม่อำนวยความสะดวกได้ดีเท่าเและจะต้องใช้เวลานานใช้แรงมากขึ้น

2.มีดปอก (Paring Knife) – “มีดที่ควรมีติดบ้าน”

มีดปอก

มีดปอกเป็นอีกตัวเลือกที่ควรจะมีติดบ้านเลยค่ะ เพราะเขาจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับงานเล็กๆ งานปราณีตในครัวได้ดีเลยทีเดียว มีดปอกที่ดีจำเป็นต้องคมรวมถึงปลายแหลมมีดต้องคมเพื่อที่จะสามารถควบคุมการหั่นได้ 

ลักษณะของมีดเชฟ: มีความคล้ายกับมีดเชฟแต่มีขนาดเล็กและสั้นกว่ามาก ใบมีดมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-3.5 นิ้วเท่านั้น(ถ้า 4 นิ้วจะออกเป็นมีดอเนกประสงค์ ที่จะกล่าวต่อไปข้างล่าง) มีดปอกที่ดีจะต้องมีใบมีดจที่บางและคม

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: เหมาะกับงานหั่นหรือปอกผักผลไม้ให้มีขนาดเล็ก

3.มีดอเนกประสงค์ (Utility Knife) 

มีดอเนกประสงค์

พูดให้เข้าใจง่ายๆมีดอเนกประสงค์จะมีลักษณะอยู่กึ่งกลางระหว่างมีดเชฟและมีดปอกนั่นเอง 

ลักษณะของมีด: ขนาดเล็กกว่ามีดเชฟแต่ไม่สั้นเหมือนมีดปอก โดยใบมีดักจะมีความยาวอยู่ที่ 4-7 นิ้ว

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: เหมาะกับการสับ หั่น เนื้อสัตว์ ผักหรือผลไม้ที่มีขนาดเล็ก กรณีถ้ามีดเชฟ/มีดปอกมีขนาดใหญ่และเล็กจนเกินไป และจะให้ความแม่นยำดีกว่า

4.มีดหั่นขนมปัง (Bread Knife)

มีดหั่นขนมปัง

หากเพื่อนๆเป็นคนชื่นชอบการทำอาหารไทยๆมีดหั่นขนมปังก็ไม่ได้จำเป็นสักเท่าไหร่ แต่ถ้าหากชื่นชอบการทำอาหารเช้าสไตล์ฝรั่งเน้นกินขนมปัง 

การมีมีดสำหรับหั่นขนมปังในเป็นตัวช่วยได้ดีมากๆ เพราะเขาจะไม่ทำให้ขนมปังเกิดความเสียหาย ไม่เป็นรูปทรง เวลาหั่นขนมปังใช้วิธีคล้ายกับการเลื่อยไม้อย่างช้าๆ 

ลักษณะของมีด: มีความยาว ใบมีดยาวประมาณ 7-11 นิ้ว ปลายโค้งลงไม่แหลมเหมือนมีดก่อนหน้าขนาดของใบมีดจะกว้างเท่ากัน คมมีดมีลักษณะเป็นฟันเลื่อย

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: แน่นอนว่าเหมาะกับการใช้เลื่อยขนมปังอย่างเช่น เบเกิล ขนมปังก้อนใหญ่กรอบนอกนุ่มนั่นเองค่า 

5.มีดแล่เนื้อ (Carving Knife)

มีดแล่เนื้อ

มีดแล่เนื้อถึงแม้จะนำมาหั่นเนื้อได้ดีพอๆกับการใช้มีดเชฟ แต่ลักษณะที่โดดเด่นของมีดเเล่เนื้อคือการหั่นบางๆ หรือต้องใช้ความปราณีตในการหั่น

ลักษณะของมีด: มีดแล่เนื้อมีลักษณะยาว บาง หน้าแคบเท่าๆกันตั้งแต่ท้ายมีดแล้วค่อยๆโค้งไปจนถึงปลายมีด ปลายมีดแหลม ขนาดความยาวอยู่ที่ 8-15 นิ้ว ถ้าสไลด์เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่หน่อยแนะนำขนาดที่ 12-15 นิ้วจะดีที่สุด

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: ใช้แล่หรือสไลด์ หั่นเนื้อสัตว์อย่างเนื้อ หมู ไก่ แฮมให้เป็นชิ้นๆอย่างสวยงาม หรือจะหั่นผลไม้จำพวกแตงโมก็ได้ 

6.มีดสับ (Cleaver)

มีดสับ

มีดสับ มีดปังตอ หรือมีดอีโต้ ไม่ว่าบ้านไหนก็มักจะมีมีดประเภทนี้ไว้ติดครัว เพราะเขาช่วยสับอาหารประเภทกระดูก หรือของเเข็งๆได้ละเอียดและเร็ว หากเพื่อนๆที่ต้องการมีดครัวสักเล่มไว้ใช้งานหนักเราขอแนะนำมีดสับเลยค่ะ 

ลักษณะของมีด: เป็นมีดที่แรงที่สุด มีลักษณะแบน หน้ากว้างเท่ากัน ตั้งแต่ท้ายไปจนถึงปลายมีด มีหลากหลายขนาดให้เลือกซื้อ 

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: เหมาะกับการหั่นเนื้อสัตว์จำพวก ไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นชิ้นๆรวมไปถึงการสับอย่างละเอียด 

7.มีดเลาะกระดูก (Boning Knife)

มีดเลาะกระดูก

มีดเฉพาะสำหรับการเลาะกระดูกเนื้อสัตว์ เป็นตัวช่วยที่จะทำให้การเลาะกระดูกง่ายขึ้นกว่ามีดทุกๆแบบและยังปลอดภัยเพราะเขาถูกออกแบบมาเฉพาะทางเลย มีดเลาะกระดูกจำเป็นต้องคมเพราะจะทำให้เลาะกระดูกง่ายและให้ไม่ติดเนื้อมากเกินไป 

ลักษณะของมีด: หน้าแคบ บาง เรียว คมมีดต้องคมจนสุดปลายแหลมของมีด มีความยาวประมาณ 5-8 นิ้ว 

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: การเลาะกระดูกเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู เนื้อไก่ สัตว์พวกที่มีข้อต่อ 

8.มีดแล่ปลา (Filleting knife)

มีดแล่ปลา

มีดเฉพาะอีกหนึ่งประเภทที่ใช้ในการแล่เนื้อปลา ที่จะช่วยเลาะกระดูก ก้างปลาออกโดยไม่สูญเสียเนื้อปลา

ลักษณะของมีด: มีลักษณะคล้ายๆกับมีดเลาะกระดูก แต่จะเพรียวกว่าและมีปลายที่แหลมคมเพื่อเลาะกระดูกและหนัง ความยาวเฉลี่ยของใบมีดอยู่ที่ 4-9 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตามถ้าปลามีขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้มีดแล่ปลาขนาดใหญ่ขึ้น 

เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน: เหมาะกับการเลาะก้างและเเล่เนื้อปลา 

สรุปส่งท้าย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นทรงมีดต่างๆที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆตามห้องครัว หากเพื่อนๆกำลังมองหามีดติดครัวไว้สักเล่มจพต้องไม่พลาด มีดเชฟและมีดปอก 

แต่ถ้าหากต้องการมีดที่เน้นการตัดกระดูก เราแนะนำมีดสับติดบ้านไว้สักเล่ม อย่างไรก็ตามหากเพื่อนๆต้องการพิถีพิถันเนื้อแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไปมีดเลาะกระดูกและมีดแล่ปาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง 

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะใช้มีดแบบไหน อย่าลืมหมั่นลับมีดให้คมด้วยที่ลับมีดเพื่อที่จะได้ใช้มีดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หวังว่าบทความของเราจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วเจอกันในบทความถัดไปค่ะ 

อ่านบทความเพิ่มเติม: 10 อันดับ หินลับมีดยี่ห้อไหนดี ที่ใช้ดีในครัวของปี2023